เส้นทางพายุ”ซูลิก” เตือน 2 จังหวัดด่านแรกของไทย รับมือพายุฝนตกหนัก
เส้นทาง พายุโซนร้อน”ซูลิก” ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตพายุซูลิกขึ้นฝั่งเวียดนาม เตือน 2จังหวัดด่านแรกประเทศไทย เตรียมรับมือพายุฝนตกหนักถึงหนักมาก
อัปเดตเส้นทาง พายุโซนร้อน”ซูลิก” กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 9 พายุดีเปรสชัน ทวีกำลังขึ้นเป็น”พายุโซนร้อนซูลิก” แล้ว เคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามคืนนี้ (19 ก.ย.67) พร้อมประกาศเฝ้าระวัง 64 จังหวัด รวมกทม.และปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมาก พร้อมแจ้งเตือน 2จังหวัดด่านแรก”นครพนม-สกลนคร” รับพายุ ช่วงรอยต่อคืนวันที่ 19-20 ก.ย.นี้
โดยพายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซูลิก” แล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกวางตรี ประเทศเวียดนามประมาณ 90 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 17.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- เส้นทางพายุโซนร้อนซูลิกเคลื่อนตัว
พายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในคืนนี้ (19 ก.ย. 67) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
- จังหวัดประเทศไทย ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้
วันที่ 19 กันยายน 2567
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ดยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 20 กันยายน 2567
- ภาคเหนือ: จังหวัดลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
นที่ 21 กันยายน 2567
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
วันที่ 22-23 กันยายน 2567
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดระนอง และพังงา
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
- เตือน 2 จังหวัดด่านหน้าประเทศไทย รับมือพายุซูลิก
นายสุรจิต จิตอารีย์รัตน์ กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน “ซูลิก” โดยจะไม่พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นแบบยางิ เพราะเข้าใกล้ชายฝั่ง หลังจากเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน และตอนกลาง และจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันในเวียดนาม หรือประเทศลาว
เมื่อพายุเข้าสู่อีสานตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ไทยฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วง 19-20 ก.ย.นี้ โดยอีสานตอนบนและตอนกลางเตรียมรับมือ ก่อนจะกระทบต่อที่ภาคเหนือด้านตะวันออก-ตอนล่าง ช่วงวันที่ 20-21 ก.ย.นี้
- พายุซูลิกเข้าไทย ช่วงไหน
จากนั้นพายุจะเข้าสู่ประเทศไทย ไม่เป็นพายุดีเปรสชัน แต่มีผลกระทบทำให้ไทยมีฝนตกหนักและหนักมาก เนื่องจากแนวร่องฝน และมรสุมกำลังแรงที่พาดผ่านจะทำให้ฝนตกหนักในช่วงดึกวันนี้ ถึง20 ก.ย.67 โดยเริ่มจากภาคอีสานตะวันออก นครพนม และสกลนคร เป็น 2จังหวัดด่านแรก