เยอะมาก”บุ๋ม ปนัดดา” เผยยอดเงิน”ชมพู่ อารยา” ช่วยน้ำท่วม เก็บเงียบไม่หาแสง
กราบน้ำใจ‘ชมพู่ อารยา’บริจาคเงิน 1 ล้านบาท ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยไม่ออกนาม พร้อมขอ ‘บุ๋ม ปนัดดา’อย่าลงน้ำ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงราย สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประสบภัย ที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และ เอกชน หรือแม้แต่น้ำใจจากประชาชนจังหวัดอื่นเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด “บุ๋ม ปนัดดา” ประธานมูลนิธิองค์กรทำดี โพสต์เปิดเผยยอดบริจาคของ “ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม” รายหนึ่งที่ร่วมสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัย น้ำท่วม ที่จ.เชียงราย เป็นเงินสูงถึง 1 ล้านบาท พร้อมใส่ภาพของนางเอกสาวตัวแม่ ชมพู่ อารยา และ สลิปโอนเงินที่ระบุข้อความชัดเจนว่า โอนจาก บริษัท ของชม จำกัด เป็นการประกาศกลายๆว่า ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม รายนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจาก สาวชมพู่นั่นเอง
โดย บุ๋ม ปนัดดา ยังได้แคปชั่นไว้ด้วยว่า”มีผู้ใจบุญไม่ประสงค์ออกนาม ได้มอบเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) ให้กับ มูลนิธิองค์กรทำดีเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยผู้ไม่ประสงค์ออกนามแจ้งมาว่า หนูขอร้องแม่ได้ไหมคะ แม่อย่าลงน้ำนะคะ แม่คอยประจำการสั่งอยู่ข้างบนก็พอ ถือว่าหนูขอร้องนะคะ”
เศรษฐกิจแม่สาย-เชียงรายเสียหายยับ “อิ๊งค์” ใช้งบฯกลางเยียวยาน้ำท่วม
แม่สาย-เชียงรายอ่วม ภารกิจแรกนายกฯแพทองธารลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กัน “งบกลาง” สั่งเยียวยาผู้ประสบภัยทันที โดยไม่ต้องรอน้ำลด ด้านผู้นำธุรกิจท้องถิ่นยันน้ำท่วมว่าหนักแล้ว แต่การฟื้นฟูเมืองจะสาหัสกว่า หลังร้านค้า-โรงแรมจมน้ำ ค้าชายแดนสูญวันละ 100 ล้าน 6 จังหวัดริมน้ำโขงเตรียมรับมือ “เลย-หนองคาย” ด่านหน้าเตรียมแผนฉุกเฉินป้องเขตเศรษฐกิจชั้นใน
อุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิ ยังส่งผลกระทบรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อ.แม่สาย เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงราย-แม่สาย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เยี่ยมศูนย์พักพิงแจกถุงยังชีพและสั่งการให้มีการระดมความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย และต้องการให้มีการเยี่ยวยาความเสียหายทันทีโดยไม่ต้องรอให้น้ำลด
อัญเชิญพระราชกระแสในหลวง
นายกรัฐมนตรี ได้อัญเชิญพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยประชาชน โดย น.ส.แพทองธารระบุว่า การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสทรงห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยจากเหตุดังกล่าว และมีพระราชกระแสทรงชื่นชมและพระราชทานกำลังใจแก่จิตอาสาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งต่างเสียสละกำลังกาย กำลังปัญญา และกำลังทรัพย์ มาร่วมกันปฏิบัติการให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
แม้การช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างยากลำบากท่ามกลางกระแสน้ำไหลเชี่ยว และข้อจำกัดต่าง ๆ แต่จิตอาสาจากทุกภาคส่วนต่างร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มกำลัง ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกันเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือย่างทันท่วงที สามารถบรรเทาสถานการณ์ให้คลี่คลายลงตามลำดับ
กันงบฯกลางช่วยน้ำท่วม
ในระหว่างที่ นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาใช้ เพราะ “ได้กันงบฯจากส่วนกลางไว้เรียบร้อยแล้ว” และต้องการให้นำงบฯมาช่วยตั้งแต่ขณะนี้โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยา ไม่ใช่รอให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงก่อนแล้วถึงจะเข้าไปเยียวยา ขอให้ทำทันทีเพราะถ้ารอจะไม่ทัน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้ประกาศให้จังหวัดเชียงราย เป็นเขตภัยพิบัตินานแล้ว เพราะถ้าไม่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติจะนำเงินทดรองจ่ายมาใช้ได้อย่างไร และนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า
ถ้าเงินทดรองจ่ายไม่เพียงพอก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสามารถขยายวงเงินได้เลย ต่อคำถามที่ว่า เนื่องจากร้านค้า-การดำเนินธุรกิจต่าง ๆในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เสียหายมาก ดังนั้นจำนวนเงินเยียวยาที่รัฐบาลจะจ่ายให้จะใช้เงินงบประมาณเท่าไหร่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีจะของบฯกลางลงไปเอง”
เศรษฐกิจแม่สายหายไปกับน้ำ
นางพร้อมพร จินดาวงศ์ เนตรหาญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง (CRCD) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้น้ำเริ่มลดระดับลง การขาดแคลนอาหาร น้ำกิน น้ำใช้ มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ “จึงยังไม่น่ากังวลมากนัก” แต่หลังจากนี้ สิ่งที่จะเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสก็คือ “จะฟื้นฟูเมือง และเศรษฐกิจให้กลับมาได้อย่างไร”
เนื่องจาก อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะ อ.แม่สาย เป็นเมืองการค้าชายแดนไทย-เมียนมา น้ำท่วมหนักในพื้นที่เศรษฐกิจเสียหายหมด กระทบหนักมาก การค้าชายแดนจะหายไป ในความคิดเห็นส่วนตัวหากประเมินมูลค่าความเสียหายขณะนี้น่าจะประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าเสียหายจากบ้านบนดอย มีดินถล่ม-ดินสไลด์หลายพื้นที่
เฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ริมแม่น้ำกกหลายแห่งเสียหายหนัก เช่น โรงแรมเดอะ ริเวอร์รี่ บายกะตะธานี, เดอะเลเจนด์ เชียงราย บูทีค ริเวอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งเป็นวิลล่าริมน้ำเป็นหลัง ๆ ถูกน้ำท่วมมิดหลังคาทุกหลัง, SLEEP Mode ห้องพักกลางเมืองเชียงราย นอกจากนี้ มีร้านอาหารและร้านกาแฟชื่อดังริมน้ำต่างได้รับผลกระทบหนัก เช่น ชีวิตธรรมดา คอฟฟี่เฮาส์ บิสโทร บาร์, เมลท์อินยัวร์เม้าท์ เชียงราย, ร้านมโนรมย์ เมืองเชียงราย
“เจ้าของกิจการมินิมาร์ทใหญ่ 4 คูหา บอกหมดตัวสินค้าเสียหายหมด ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ร้านค้าชายแดน คนขายเครื่องประดับ-หยกไปกับน้ำหมด การฟื้นตัวของชาวบ้านที่เชียงรายต่างกับอีกหลายจังหวัด เพราะคนเชียงรายส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว คนหาเช้ากินค่ำ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กมาก ๆ ไม่สามารถขอกู้เงินจากธนาคารมาฟื้นฟูบ้านและทรัพย์สินได้ ดังนั้นการฟื้นตัวจะยากมาก” นางพร้อมพรกล่าว
ด้านนางผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายและประธานหอการค้าแม่สาย กล่าวว่า น้ำท่วมอำเภอแม่สายครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบหลาย 10 ปี ทุกอย่างล่มจมโดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ-การค้าได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้
แต่หากมองภาพรวมทางเศรษฐกิจของแม่สาย โดยปกติมีการค้าขายที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนวันละหลาย 100 ล้านบาท ทั้งเศรษฐกิจที่มาจากสินค้าอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว การบริการสาธารณสุข-การบริการสุขภาพ การศึกษา รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจคาดว่าอยู่ที่ราว 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี
14 ก.ย.เชียงรายสู่ภาวะปกติ
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ โดยเฉพาะที่เชียงราย ในช่วงวันที่ 9-11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำอิง โดยโครงการชลประทานเชียงรายได้เร่งระบายน้ำลงสู่คลองระบายน้ำต่าง ๆ เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำโขง ล่าสุดยังมีน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย แต่น้ำเริ่มลดลง คาดการณ์ว่าวันที่ 14 กันยายน 2567 จะเข้าสู่สภาวะปกติ
พื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อ.แม่อาย โดยน้ำจาก อ.แม่อาย จะไหลสู่แม่น้ำกก ซึ่งจะกระทบกับ อ.เมืองเชียงราย ขณะที่ อ.ฝาง ตอนนี้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อยู่ระหว่างการช่วยเหลือฟื้นฟู ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำลันตลิ่งที่แม่น้ำปาย ส่งผลกระทบพื้นที่การเกษตรในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 600 ไร่ โดยปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินต่อไป
“สถานการณ์ที่ อ.แม่สาย ระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว” ส่วนมาตรการเร่งด่วน กรมชลประทานได้จำลองสถานการณ์น้ำในกรณีที่มีฝนตก และได้เร่ง “พร่องน้ำ” ในอ่างเพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ควบคู่ไปกับการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง “ตอนนี้ได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง” นายชูชาติกล่าว
คลองระบายน้ำเลี่ยงเชียงราย
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายในระยะยาวนั้น นายชูชาติกล่าวว่า จะต้อง “ตัดน้ำจากแม่น้ำกก” ที่ไหลผ่านพื้นที่เทศบาลเชียงราย อ้อมแนวมาลงกับแม่น้ำลาว และจากแม่น้ำลาว จะขุดขยายลำน้ำให้สามารถรับปริมาณน้ำที่ผันลงมา ซึ่งจะไปบรรจบกับแม่น้ำกก ที่ด้านท้ายของฝายเชียงราย โดยความยาวตั้งแต่ด้านท้ายของฝายเชียงราย ไปถึงแม่น้ำโขง ที่มีระยะทาง 80 กม. ก็จะมีการขุดขยายเพื่อรองรับปริมาณน้ำทั้งหมด
ส่วนจุดที่แม่น้ำกกบรรจบกับแม่น้ำโขงจะมีการสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำในช่วงแม่น้ำโขงหนุนสูง ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการศึกษารายละเอียดโครงการตัดน้ำจากแม่น้ำกกแล้ว
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ ด้วยการควบคุม “บานระบายของเขื่อนแม่น้ำชีทุกแห่ง” เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชี ให้ไหลลงแม่น้ำมูล ออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว โดยจะต้องควบคุมระดับน้ำให้ลดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งทรุด และให้มีระดับน้ำที่แพสูบน้ำต่าง ๆ สามารถลอยน้ำอยู่ได้ ส่วนด้านท้ายน้ำจะพร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งการช่วยเหลืออพยพ หาที่พักพิง ตลอดจนสั่งให้มีการศึกษาหาแนวทางเยียวยาต่อไป ในส่วนของการช่วยเหลืออพยพสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่
ส่วนความเสียหายล่าสุด (17 กรกฎาคม 2567-ปัจจุบัน) ประกอบด้วย ด้านพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 131,458 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 850,084 ไร่ ใน 39 จังหวัด ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 11,555 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 9,046 ไร่ ใน 23 จังหวัด และด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 54,842 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 3.3 ล้านตัว ใน 16 จังหวัด
“การแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายระยะยาว ทางกระทรวงเร่งดำเนินการศึกษาการพัฒนาโครงการคลองระบายน้ำเลี่ยงเมือง คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2569 ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ในส่วนของรายละเอียดงบประมาณ ทางรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่” นางนฤมลกล่าว
สูญวันละ 290 ล้าน
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยรอบนี้ “ทั้งหนัก แรง เร็ว และมีโอกาสลากยาว” โดยอ้างอิงสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จากสภาพัฒน์ พบจังหวัดเชียงราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 290 ล้านบาท
ถ้าเจอน้ำท่วมหนักแบบนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ความเสียหายจะมากกว่า 20,000 ล้านบาทขึ้นไป ตัวเลขนี้นับเฉพาะมูลค่าความเสียหายจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ยังไม่นับเรื่องทรัพย์สิน ที่ดิน และอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขได้ เนื่องจากไม่ทราบขอบเขตความเสียหายที่แน่ชัด
“ถ้าลากยาวกว่านี้ ตัวเลขไม่ใช่แค่คูณสอง แต่ทวีคูณ ความเสียหายข้างต้นจะถูกนับเป็นความเสียหายบานปลาย ตามหลักการของเศรษฐศาสตร์ภัยพิบัติ” เปรียบเหมือนดอกเบี้ยทบต้น พร้อมแนะนำว่า นอกจากเร่งช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลต้องเตรียมแผนการฟื้นฟูไว้ทันที เพื่อกลับมาพลิกฟื้นและเดินหน้าต่อได้อย่างรวดเร็ว
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ทำการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในภาคเหนือที่มีต่อภาคการเกษตรว่า พื้นที่นาข้าวจะได้รับผลกระทบเป็นส่วนใหญ่
และหากรวมความเสียหายจากน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย ในเบื้องต้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม และน้ำจะลดลงภายในเวลา 10 วัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจากทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ครึ่งหลังของปี 2567 ปริมาณฝนในไทยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 15-16% และจะเข้าสู่ภาวะลานีญา (ฝนมากน้ำมาก) เต็มตัวในเดือนตุลาคม ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยในทุกภาค ทางฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจได้คาดการณ์กรณีฐานจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 4.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP
เลย-หนองคายตั้งรับน้ำโขงล้น
ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ 14/2567 เรื่องแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ในช่วงวันที่ 12-16 ก.ย. 2567 จ.เชียงราย บริเวณสถานีเชียงแสน อ.เชียงแสน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.50-0.70 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.40 เมตร, จ.เลย บริเวณสถานีเชียงคาน อ.เชียงคาน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.00-3.60 เมตร
และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. 2567, จ.หนองคาย บริเวณสถานีหนองคาย อ.เมืองหนองคาย และ จ.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 3.50-3.90 เมตร และคาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มสูงกว่าตลิ่ง 1.50-2.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย. 2567 และ จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00-2.60 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.50-1.30 เมตร
นายสมพร สีดา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ได้เตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับ มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมโขงเป็นระยะ ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้หมด ทั้งแผนเตรียมการอพยพประชาชนอย่างเต็มที่
หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีการเสริมคันกันน้ำ มีการวางกระสอบทรายเสริมความสูงอีกประมาณ 60 ซม. ป้องกันน้ำเข้า มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้เป็นระยะทุกจุดเพื่อสูบน้ำออก พร้อมทำงานตลอดเวลาเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในไว้ สิ่งที่กังวลก็คือการปล่อยน้ำของจีน และ สปป.ลาว มากกว่า
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ได้เตรียมการล่วงหน้ามา 2 เดือนแล้ว จากอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 16 อ่าง ได้มีการพร่องน้ำไว้รองรับ ตอนนี้อ่างทั้งหมดยังสามารถรับเพิ่มได้อีก 30% มีการเตรียมแผนฉุกเฉิน-แผนอพยพหากเกิดวิกฤต แต่ยังต้องเฝ้าระวังพายุลูกใหม่ถึงวันที่ 17 กันยายนนี้ รวมถึงยังกังวลเรื่องการปล่อยน้ำลงมาให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจหลักริมแม่น้ำโขง ได้แก่ 1) อ.เมือง ได้ดำเนินการเตรียมกว่า 2 เดือน ก่อนฤดูฝน ทั้งการขุดลอกทางน้ำ และวางแผนทิศทางการไหลของน้ำลงแม่น้ำเลย แล้วไปลงที่แม่น้ำโขง 2) อ.เชียงคาน เพราะเป็นพื้นที่ติดกับลาว หากมีน้ำมาจากลาว จะมาเจอพื้นที่เชียงคานก่อน แล้วถัดไปเป็น อ.ปากชม จะได้รับผลกระทบ 2 ตำบล ได้แก่ ต.ปากชม และ ต.แสนฮาด
“ขณะนี้ระดับน้ำยังไม่น่าห่วง ได้กั้นกระสอบทรายและตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ ยังไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเชียงคานเพราะเป็นพื้นที่สูง”